อำนาจอธิปไตย

อำนาจอธิปไตย

     ประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  หมายความว่า  อำนาจอธิปไตย  หรือ  อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศมาจากปวงชนชาวไทย  อันมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข  ทรงใช้อำนาจอธิปไตยผ่านทางรัฐสภา  คณะรัฐมนตรีและศาลตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ  โดยอำนาจขององค์กรทั้ง 3 ฝ่าย  จะต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน  และอยู่ในลักษณะการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน
     จากที่กล่าวมาข้างต้นสมาชิกในสังคมจึงจำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย  เพราะจะช่วยให้เข้าใจลักษณะการเมืองการปกครองมากยิ่งขึ้น

การแบ่งอำนาจอธิปไตย
ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  โดยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงใช้อำนาจในการปกครองประเทศเหมือนในอดีต  แต่พระองค์จะทรงใช้อำนาจอธิปไตย  หรืออำนาจในการปกครองประเทศตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ  คือ  พระองค์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติเพื่อออกกฎหมายบังคับใช้แก่ประชาชนผ่านทางรัฐสภา  และทรงใช้อำนาจบริหารในการปกครองประเทศผ่านทางคณะรัฐมนตรี  โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐมนตรี  รวมทั้งทรงใช้อำนาจตุลาการอันเป็นอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่าง ๆ ผ่านทางศาล

อำนาจอธิปไตยสามารถแบ่งออกเป็นอำนาจย่อย 3 อำนาจ  ดังนี้
1.  อำนาจนิติบัญญัติ  เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา  ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  ได้กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย  สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  โดยรัฐสภาเป็นตัวแทนของประชาชนชาวไทย  กล่าวคือ  ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่างฝ่ายต่างมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งสิ้น  แต่อาจจะด้วยวิธีการและจำนวนที่แตกต่างกันออกไป  โดยหลักการใหญ่ ๆ รัฐสภามีหน้าที่พิจารณาออกกฎหมายบังคับให้แก่ประชาชนตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนด  กฎหมายที่จะออกมาจากรัฐสภาต้องผ่านความเห็นชอบทั้งจากสภาผู้แทนราษฎรและจากวุฒิสภา  จึงจะนำขึ้นทูลเกล้า ฯ  ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย  ดังนั้น  อำนาจหน้าที่ของรัฐสภาของไทยในระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจึงมีอำนาจหน้าที่โดยทั่วไป  ดังนี้
1.  อำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมาย  เพื่อใช้เป็นแนวทางและเครื่องมือในการบริหารประเทศ  ได้แก่  การเสนอร่างพระราชบัญญัติ  การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติและกฎหมายอื่น ๆ การแก้ไขเพิ่มเติม  การยกเลิกกฎหมาย  เป็นต้น  โดยจะทำหน้าที่ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  ตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้  สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  จะมีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย  และเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา  แต่สมาชิกวุฒิสภาไม่มีอำนาจเสนอร่างกฎหมายมีเพียงอำนาจพิจารณาร่างกฎหมายเท่านั้น
โดยทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาล้วนเป็นผู้แทนของประชาชนชาวไทยที่เลือกเข้ามาทำหน้าที่ในรัฐสภา  เพื่อให้ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทนประชาชนทั่วประเทศ  ดังนั้นการใช้อำนาจนิติบัญญัติที่ได้กล่าวมาข้างต้น  จึงต้องคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นหลัก
2.  เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี  โดยบุคคลนั้นจะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับเสียงข้างมากเห็นสมควรให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ซึ่งบุคคลนั้นก็จะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยเช่นกัน  โดยอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
3.  ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา  รวมทั้งตรวจสอบติดตามผลการปฏิบัติงานของรัฐบาล
นอกจากนั้น  ในส่วนของวุฒิสภาอันมีสมาชิกวุฒิสภาเป็นสมาชิก  นอกจากจะมีหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว  วุฒิสภายังมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ  เพื่อแต่งตั้งและถอดถอนบุคคลหรือองค์กรอิสระตามที่รัฐธรรมบัญญัติไว้อีกด้วย  เช่น  ถอดถอนนายกรัฐมนตรี  นักการเมือง  เป็นต้น
4.  ให้ความเห็นชอบในกิจกรรมสำคัญของประเทศตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด  เช่น  การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  การสืบราชสมบัติ  การให้ความเห็นในการประกาศสงคราม  เป็นต้น

2.  อำนาจบริหาร  ใช้ผ่านทางคณะรัฐมนตรี  ซึ่งเป็นคณะบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารประเทศ  โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2550  ได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่า  “นายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากบุคคลที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้นเท่านั้น”  ส่วนรัฐมนตรีไม่มีข้อห้ามจึงสามารถแต่งตั้งจากบุคคลใดก็ได้
อำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  บัญญัติไว้  คือ
1.  กำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน
2.  รักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย  เพื่อให้ประชาชนดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข
3.  ควบคุมข้าราชการประจำให้นำนโยบายไปปฏิบัติให้บังเกิดผล
4.  ประสานงานกับกระทรวงต่าง ๆ ให้มีความสอดคล้องไปในทางเดียวกัน
5.  ออกมติต่าง ๆ เพื่อให้กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ถือปฏิบัติ  คณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  ประกอบด้วย  นายกรัฐมนตรี 1 คน  และคณะรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 35 คน

3.  อำนาจตุลาการ  เป็นอำนาจของศาลทุกประเภท  ที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550  ซึ่งศาลทุกประเภทมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีความต่าง ๆ ตามอำนาจของศาลนั้น ๆ เพื่อให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์  และเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนในชาติ  เช่น  ศาลปกครอง  ศาลอาญา  เป็นต้น  ด้วยเหตุนี้  อำนาจตุลาการต้องเป็นอิสระ  ปราศจากการแทรกแซง

การถ่วงดุลอำนาจ
ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  การแบ่งแยกอำนาจมิได้หมายความว่า  องค์กรผู้ใช้อำนาจทั้งสาม  คือ  ฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายบริหาร  และฝ่ายตุลาการจะต้องมีอำนาจเท่าเทียมกัน  โดยอำนาจใดอำนาจหนึ่งอาจอยู่เหนืออีกอำนาจหนึ่งได้และอีกฝ่ายหนึ่งก็มีขั้นตอนในการลดอำนาจของอีกฝ่ายตามที่รัฐธรรมนูญได้ให้ไว้  อาจกล่าวได้ว่า  การถ่วงดุลอำนาจมักเป็นเรื่องของอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร  โดยในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง  การถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหาร  ดังนี้

1.  กรณีฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร
          ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร  หมายถึง  อำนาจที่สภาผู้แทนราษฏรเปิดประชุมเพื่ออภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล  เมื่อรัฐบาลบริหารประเทศเกิดความผิดพลาดเสียหาย  หรือมีการทุจริตคอร์รัปชั่น  ซึ่งเมื่อมีการลงมติภายหลังการอภิปราย  หากรัฐบาลได้รับเสียงสนับสนุนหรือไว้วางใจน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้น  ก็จะมีผลให้รัฐบาลต้องลาออก  เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่  โดยผลของการเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล  อาจจะเป็นการไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวก็มีผลถึงคณะรัฐมนตรีร่วมคณะทุกคน  ต้องพ้นความเป็นรัฐมนตรี  แต่หากเป็นการเปิดอภิปรายเฉพาะรัฐมนตรีบางคน  รัฐมนตรีคนที่ได้รับเสียงไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งก็จะพ้นจากการเป็นรัฐมนตรีเฉพาะราย  ส่วนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ที่ไม่ถูกอภิปรายก็ยังคงอยู่ปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป

คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินประกอบด้วย  นายกรัฐมนตรีหนึ่งคนและรัฐมนตรีอีกไม่เกิน 35 คน  ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขึ้น
โดยนายกรัฐมนตรี  ต้องแต่งตั้งมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
คุณสมบัติของคณะรัฐมนตรีที่สำคัญ  เช่น  มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด  มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์  สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
โดยลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี  เช่น  ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไปโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปี  โดยเป็นความผิดอันเกิดจากการกระทำโดยประมาท  ไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา  เป็นต้น

2.  กรณีฝ่ายบริหารมีอำนาจสูงสุดเหนือฝ่ายนิติบัญญํติ
          กรณีฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ  หมายถึง  การใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีอันมีนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรัฐมนตรี  มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร  เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่  อันมีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดต้องพ้นสภาพ  ซึ่งมักจะเกิดจากสภาผู้แทนราษฎรเกิดความวุ่นวาย  หรือเกิดวิกฤติจนไม่สามารถควบคุมได้  หรือร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาลไม่ได้รับความเห็นชอบ  เช่น  พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี  เป็นต้น
จึงเห็นได้ว่า  ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต่างมีอำนาจที่จะถ่วงดุลซึ่งกันและกันให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น
ส่วนฝ่ายตุลาการเป็นอำนาจที่เป็นอิสระเฉพาะ  เนื่องจากการพิจารณาคดีความต่าง ๆ ย่อมต้องเป็นกลางและเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย  ภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์  จึงอาจกล่าวได้ว่าฝ่ายตุลาการเป็นฝ่ายที่มิได้มีการถ่วงดุลหรือคานอำนาจกับฝ่ายใด
กล่าวโดยสรุปได้ว่า  อำนาจอธิปไตยแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย  คือ  ฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายบริหาร  และฝ่ายตุลาการ  อำนาจทั้งสามฝ่ายจะมีการถ่วงดุลกันอยู่  เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น  มีประสิทธิภาพมิให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจจนเกินขอบเขต

อำนาจอธิปไตยทั้งสามฝ่าย  คือ  นิติบัญญัติ  บริหาร  ตุลาการ  มีการถ่วงดุลอำนาจกันไม่ให้อำนาจใดมีอำนาจมากเกินไปหรืออ่อนแอ  เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

อ้างอิงจาก : ไพศาล ภู่ไพบูลย์ อังคณา ตติรัตน์ และปนัดดา มีสมบัติงาม. หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม ม.1. พิมพ์ครั้งที่ 1.  กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.

ใส่ความเห็น