การจัดการเงินเกษียณอย่างไรให้ยั่งยืน

จัดการเงินเกษียณอย่างไรให้ยั่งยืน

ก่อนเกษียณ คิดแบบเหลือดีกว่าขาด ในช่วงวางแผนเตรียมเงินเกษียณ โจทย์หนึ่งที่ทุกคนควรทำคือประเมินว่า ตัวเองจะใช้เงินไปอีกกี่ปีหลังเกษียณ ข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้น คือ การประเมินอายุ ตัวเองหลังเกษียณไว้น้อยเกินไป เพราะเรามักได้ยินว่าชายไทยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 74 ปีส่วนหญิงไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 79 ปี แต่ลองสังเกตไหมคะว่าเดี๋ยวนี้เราเห็นคนอายุยืนกว่า90 ปีมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น เพื่อไม่ต้องกลัวว่าเงินเกษียณจะหมดก่อนถึงจุดหมายปลายทางอย่างที่ รุ่นพี่ดิฉันกังวล เวลาวางแผนเตรียมเงินเพื่อเกษียณให้ปลอดภัยขึ้น ก็ให้เผื่อไปเลยว่า คุณอาจจะอยู่ไปถึงอายุ 100 ปี

นอกจากประเมินระยะเวลาที่จะต้องใช้เงินเกษียณแล้ว คุณยังต้องประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษียณด้วยว่ามีอะไรบ้าง เช่น ค่าอาหาร ค่าใช้จ่ายส่วนตัวในบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ รวมแล้วจะใช้เงินประมาณเดือนละเท่าไร ตรงนี้ควรคำนวณเผื่ออัตราเงินเฟ้อไว้ด้วย เพราะเดี๋ยวนี้ข้าวของแพงขึ้นทุกวัน เช่น หากคุณใช้จ่ายวันนี้เดือนละ 30,000 บาท ถ้าคุณจะเกษียณในอีก 10 ปีข้างหน้า แล้วคาดว่าราคาสินค้าแพงขึ้นทุกปี ปีละ 4% คุณจะต้องเตรียมเงินไว้ถึงเดือนละ 45,000 บาท ถึงจะมีอำนาจ ใช้จ่ายได้เท่ากับเงิน 30,000 บาทในวันนี้

เกษียณแล้ว ก็ยังต้องลงทุน
เมื่อเกษียณและได้รับเงินก้อนใหญ่มานั้น วิธีจัดการ คือ นำเงินไปลงทุนเพื่อ เพิ่มมูลค่า ไม่ใช่เก็บไว้เฉยๆ (ฝากธนาคารอย่างเดียว ก็ไม่ต่างกับเก็บไว้เฉยๆ)ดังนั้น หากยังไม่รู้จักเรื่องของการลงทุน ควรเริ่มต้นศึกษาหาข้อมูลอย่างจริงจัง ได้แล้ว หลักสำคัญ คือ ต้องจัดสรรเงินลงทุนกระจายไปในสินค้าการลงทุนต่างๆที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน เช่น การลงทุนเพื่อสภาพคล่อง (liquidity) อย่างการฝากเงินธนาคาร หรือซื้อกองทุนรวมตลาดเงิน หรือการลงทุนเพื่อสร้างกระแสรายได้สม่ำเสมอ (income) อย่างลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือหุ้นกู้เอกชนที่ให้ผลตอบแทนใน รูปดอกเบี้ย

นอกจากนั้น ต้องมีการลงทุนเพื่อทำให้เงินเติบโต (growth) เช่น การลงทุน ในหุ้น ซึ่งอาจได้ประโยชน์ทั้งทางด้านเพิ่มมูลค่าของเงินลงทุน และสร้างกระแส รายได้หากเป็นหุ้นที่มีการจ่ายปันผลเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นอาจ มีสัดส่วนไม่มากเหมือนก่อนเกษียณ เพราะหากเกิดภาวะหุ้นตก อาจต้องใช้เวลานาน กว่าราคาจะดีดกลับขึ้นมา ซึ่งถ้าบังเอิญต้องใช้เงินในช่วงนั้น เงินเกษียณของคุณ ก็จะหดหายไป

ถอนเฉพาะดอกผลมาใช้ เก็บเงินต้นไว้ให้ทางาน
กฎเหล็กข้อหนึ่งที่ไม่อาจฝ่าฝืน คือ วินัยในการถอนเงินเกษียณมาใช้ตามแผน ที่วางไว้ ไม่ใช่ถอนทุกเมื่อที่ต้องการ การประเมินค่าใช้จ่ายในช่วงที่เตรียมตัวเกษียณจะทำให้รู้ว่าแต่ละเดือน แต่ละปี คุณจะใช้จ่ายเท่าไร เนื่องจากจำนวนเงินที่แต่ละคนใช้อาจไม่เท่ากัน หลักการในเรื่องนี้จึงแนะนำว่า ให้ถอนเงินเกษียณมาใช้เพียงปีละ 3-5%ซึ่งเป็นอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในระดับที่เป็นไปได้ และอาจเพิ่มอัตราถอนสูงขึ้นหากได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่านี้ ถ้าทำได้ ต้องพยายามถอนแต่ดอกผล มาใช้ อย่าไปกินเงินต้น

ขอให้จำไว้ว่า ยิ่งต้นลด ดอกก็ลดไปด้วย เท่ากับคุณจะมีเงินเหลือใช้น้อยลง ตัวอย่างเช่นเงินต้น 5 ล้านบาท ผลตอบแทนจากการลงทุนปีละ 5% หรือเท่ากับปีละ 250,000 บาท แต่ถอนออกมาใช้ปีละ 400,000 บาทเมื่อเป็นการถอนแบบกินเงินต้นไปเรื่อยๆ เงินเกษียณก้อนดังกล่าวจะหมดในเวลาเพียง 20 ปี แล้วหากว่าคุณต้องอยู่ไป อีก 10 ปี หลังจากนั้น ชีวิตคงลำบากไม่น้อย

หัวใจสำคัญ จึงอยู่ที่การพยายามรักษาเงินต้นไว้ให้มากและนานที่สุด กรณีที่ได้ ดอกผลจากการลงทุนน้อย ไม่พอให้ใช้จ่ายตามงบประมาณที่กำหนดไว้ ก็ต้องหาทางแก้ไข เช่น ปรับลดค่าใช้จ่ายลงเท่าที่จะทำได้

วัยเกษียณแม้ไม่ใช่วัยแห่งความสุขสำหรับทุกคน หลายคนอาจมีปัญหาสุขภาพรวมถึงปัญหาอื่นที่อยู่รายล้อมรอบตัว แต่อย่างน้อยหากสามารถจัดการเงินเกษียณให้ยั่งยืนเป็น ก็เท่ากับลดเหตุที่จะทำให้ทุกข์ลงไปได้หนึ่งเรื่อง หวังว่าทุกท่านจะเกษียณแบบมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งทางกายและทางใจค่ะ

อ้างอิงจาก : home.co.th และ bangkokbiznews.com

บทความนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดทุนแก่สาธารณชนการนำข้อมูลไปอ้างอิง ควรตรวจสอบความถูกต้องและเป็นปัจจุบันของ กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วย

ใส่ความเห็น