ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย

ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยและแนวทางแก้ไข

            ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทยมีสาเหตุทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ได้แก่ ปัญหาทางด้านการเมือง ภัยธรรมชาติ ขาดแคลนเงินทุน เป็นต้น และปัจจัยภายนอก เช่น ราคาน้ำมัน วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ความตกต่ำของเศรษฐกิจโลก เป็นต้น    ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจประเทศไทย รวมทั้งเศรษฐกิจของชุมชนด้วย ปัญหาเศรษฐกิจของไทย ที่สำคัญ ได้แก่

                1. ปัญหาความยากจน  ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงยากจน มีชีวิตความเป็นอยู่ในระดับพอยังชีพ แนวทาง แก้ไข คือ ถ้าในระยะสั้น ใช้การกระตุ้นการลงทุนและการจ้างงาน  เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ ส่วนแนวทางแก้ไขอย่างยั่งยืน คือ พัฒนาการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

                2. ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหรือถดถอย ทำให้การลงทุนและการจ้างงานลดลง  การว่างงานเพิ่มขึ้น รายได้ประชาชาติและการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง แนวทางแก้ไข คือ รัฐบาลวางนโยบายทางเศรษฐกิจ เพื่อกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนของประชาชน ให้ใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการในประเทศ  ทำให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้น  หรือลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการลงทุน ทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

                3. ปัญหาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ  เนื่องจากการเปิดเสรีทางด้านการค้าในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกมากขึ้น ทำให้ประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นทั้งในด้านราคา  คุณภาพ และเทคโนโลยีชั้นสูงขึ้น    แนวทางแก้ไข คือ  ภาคการผลิตต้องปรับตัวเอง เพิ่มศักยภาพในการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สินค้าที่มีคุณภาพดี หรือทำให้สินค้าหรือบริการของตนมีเอกลักษณ์แตกต่างจากสินค้าหรือบริการของผู้ผลิตรายอื่น    

                4. ปัญหาการว่างงาน  เป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ขายสินค้าไม่ได้ หรือมาจากไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นๆได้ หรือเศรษฐกิจโลกตกต่ำ แนวทางการแก้ไขปัญหา คือ รัฐบาลเข้ามากระตุ้นให้เกิดการลงทุนโดยรัฐบาลเองหรือส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชน

                5. ปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม   ช่องว่างของรายได้ที่ไม่เป็นธรรม สภาพความเป็นอยู่จึงแตกต่างกันแนวทางแก้ไข คือ รัฐบาลควรเข้าไปจัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรมอย่างทั่วถึง สร้างงานให้กับคนในชนบทหรือเพิ่มอาชีพเสริมให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย  จัดเก็บภาษีทางตรงในอัตราก้าวหน้าแล้วนำไปจัดสรรแก่ผู้ที่มีรายได้น้อย จะทำให้ช่องว่างในการกระจายรายได้ลดลง

                6. การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาสินค้าและบริการทั้งของต่างประเทศ และภายในประเทศ ก่อให้เกิดผลเสียต่อการผลิต การลงทุนภายในประเทศ ส่วนในต่างประเทศไทยจะถูกตัดสิทธิพิเศษจากประเทศที่ถูกละเมิดสิทธิทำให้มีผลต่อการส่งออก ความสามารถในการแข่งขันทางการค้าจะลดลง แนวทางแก้ไข คือ จะต้องเพิ่มมาตรการการลงโทษทางกฎหมายและส่งเสริมโดยใช้มาตรการทางภาษี เพื่อลดราคาสินค้าที่ต้องตามกฎหมายใกล้เคียงกับสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์

 

ปัญหาเศรษฐกิจในชุมชนและแนวทางแก้ไข

          เศรษฐกิจของชุมชน คือ การทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนในชุมชน ได้แก่ การผลิต การบริโภค การซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิต  ซึ่งมีลักษณะเป็นองค์รวมทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนในชุมชน

1.             ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม  เนื่องจากมีการใช้ทรัพยากรมากเกินไป และขาดการวางแผนในการใช้อย่างระมัดระวัง เช่น การใช้ดิน ใช้น้ำ  ทำให้ขาดแคลนน้ำและดินขาดความอุดมสมบูรณ์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่  ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกร  แนวทางแก้ไข คือ ภาครัฐและชุมชนจะต้องร่วมมือกันพัฒนา วางแผนในการใช้ทรัพยากรในชุมชนอย่างยั่งยืน เช่น  การปลูกพืชหรือหญ้าแฝกที่ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ  เป็นต้น

2.             ปัญหาการขาดแคลนเงินทุน  เนื่องจากขาดแคลนเงินออม  ซึ่งส่งผลต่อการลงทุนในชุมชน    แนวทางแก้ไข คือ  ส่งเสริมชุมชนให้มีกองทุนเพื่อให้กู้ยืมในการผลิตและพัฒนาอาชีพ โดยการระดมเงินออมของคนในชุมชน หรือหาแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่คนชน

3.             ปัญหาขาดการจัดการในเชิงธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ  ไม่สามารถนำเงินทุนของหมู่บ้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน อาจมีสาเหตุมาจาก ขาดข้อมูลข่าวสาร ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพการผลิต  และขาดความสามารถด้านการตลาดที่จะแข่งขันในตลาด  แนวทางแก้ไข คือ รัฐบาลรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปจัดอบรมให้ความรู้และให้ศึกษาดูงานจากธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

4.             ปัญหาขาดผู้นำในชุมชนที่มีความสามารถในการพัฒนา  คนไทยในชุมชนไม่กล้าแสดงออก ทำให้ขาดผู้นำในการจัดการบริหารงานของชุมชนให้มีประสิทธิภาพ   แนวทางแก้ไข คือ การสร้างภาวะผู้นำให้กับสมาชิกในชุมชน ฝึกอบรมภาวะผู้นำให้กับคนในชุมชน และให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นถึงปัญหาและแนวทางเพื่อร่วมกันการแก้ปัญหา 

5.             ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ  แรงงานขาดความรู้และเทคนิคในการผลิต  ทำให้ขาดประสิทธิภาพในการผลิต  แนวทางแก้ไข  คือ จะต้องมีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่อง
ที่มา : https://sites.google.com/site/classroomsocial/lesson/unit6/02

ใส่ความเห็น